Quick Read ตาดูหูฟัง

ระลึกถึง Jóhann Jóhannsson นักประพันธ์ดนตรีประกอบหนังที่เราคิดถึง

  • Writer: Peerapong Kaewthae
  • Art Director: Thanaporn Sookthavorn

หลายคนอาจรู้จัก ‘Arrival’ ในฐานะหนังมนุษย์ต่างดาวแสนพิศวงว่า ไอ้ยานรูปมันฝรั่งมันจะเอาอะไรกับมนุษย์ หรือรู้จัก ‘Sicario’ คือหนังแอ็คชั่นสุดมันที่ตามติดการเอาชีวิตรอดของ FBI หญิงจากเมืองแห่งอาชญากรรมอย่างเม็กซิโก และรู้จัก ‘The Theory of Everything’ ว่าเป็นหนังโรแมนติกสุดดราม่าที่สร้างจากชีวประวัติของ สตีเฟน ฮอว์กิง นักฟิสิกส์ทฤษฎีและนักจักรวาลวิทยาระดับโลก แม้หนังทั้งสามเรื่องจะมีโทนหนังและอารมณ์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่มีคนคนเดียวกันอยู่เบื้องหลังในการสร้างสรรค์บรรยากาศของหนังผ่านเสียงเพลง เติมเต็มความหวังในฉากแสนสุข หรือเติมเต็มความทุกข์ในฉากที่แสนเศร้า บีบคั้นความกลัวของเราด้วยตัวโน๊ตไม่กี่ตัว มีอัจฉริยะที่ได้รับการยอมรับในสากลโลกไม่กี่คนที่ทำได้แบบนั้น หนึ่งในนั้นก็คือ Jóhann Jóhannsson

ถ้าใครเป็นแฟนเพลงประกอบหนังน่าจะต้องรู้ข่าวคราวการจากไปของดาวดวงนี้ เพราะ Jóhann Jóhannsson เสียชีวิตด้วยวัยเพียง 48 ปีเท่านั้น แม้จะยังไม่มีสาเหตุการตายออกมาให้กระจ่างชัด แต่ก็ไม่ช่วยคลายความเศร้าที่เราต้องสูญเสียอัจฉริยภาพคนหนึ่งไปอย่างน่าเสียดาย

Jóhannsson เป็นที่รู้จักในวงกว้างตั้งแต่ได้รับรางวัลลูกโลกทองคำสาขาเพลงประกอบยอดเยี่ยมจากการทำดนตรีประกอบให้กับหนังเรื่อง ‘The Theory of Everything’ แถมยังได้เสนอเข้าชิงอีกหลายรางวัลจากสกอร์สุดหลอนจากหนัง ‘Sicario’ และ ‘Arrival’ เรียกได้ว่าเป็นคอมโพสเซอร์คู่บุญของผู้กำกับชื่อดังของหนังทั้งสองเรื่องอย่าง Denis Villeneuve เลยทีเดียว ในการร่วมงานกันครั้งแรกกับหนัง ‘Prisoner’ ก็สร้างความประทับใจให้คนรักหนังได้ทันที หนังเกี่ยวกับพ่อผู้ตามหาลูกสาวที่หายไปด้วยวิธีการที่ป่าเถื่อนผิดมนุษย์ และเล่าเรื่องด้วยภาพเป็นหลักแต่กลับได้ดนตรีประกอบมาทำให้หนังน่าอึดอันขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ จากการนำเอาเสียงดนตรีแห่งพิธีกรรมอันน่าขนลุกมาผนวกเข้ากับเสียงครวญครางอันน่ากลัวของดิจิทัล กระตุ้นความกดดันผลักให้คนดูตกอยู่ในห่วงฝันร้ายอันไร้ทางออก บังคับให้เราต้องวิ่งพล่านไปกับจินตนาการอันเลวร้าย

Jóhann Jóhannsson ยังถูกยกยอว่าเป็นคนที่เปลี่ยนมุมมองที่คนในวงการหนังมีต่อดนตรีประกอบหนังไปอย่างสิ้นเชิง เขาชักชวนให้คนดูคิดแทนที่จะคอยบอกว่าฉากนี้ทุกคนจะต้องรู้สึกยังไง เสียงในหนังสยองขวัญของเขาทั้งสามเรื่องไม่เพียงแตกต่างกันในด้านเทคนิคเท่านั้น แต่ยังแตกต่างจากนักทำดนตรีประกอบหนังหลายคนอย่างสิ้นเชิง เขาใช้เทคนิคเดียวกับที่ Hans Zimmer ทดลองกับหนังของ Christopher Nolan โดยใช้เสียงเบสทุ้ม ๆ ลึก ๆ คล้ายเสียงหวูดจนรู้สึกสั่นไปถึงกระดูกมาผสมกับการบิดเบือนเสียงสังเคราะห์บนคอมพิวเตอร์ และเสียงที่ไม่เป็นมิตรเลยอีกมากมายพอที่จะปรุงแต่งจิตใต้สำนึกของเราให้รู้สึกไม่ไว้วางใจในดินแดนแห่งฝันร้ายนี้ได้เหมือนในหนัง Sicario เลย

หรือ ‘Arrival’ ที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขาถึงขีดสุด ก็ช่วยบุกเบิกแนวทางการทำดนตรีประกอบหนังในรูปแบบที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อนให้กับหนังของ Denis Villeneuve ซึ่งต้องการสร้างความแตกต่างที่ทุกคนคาดหวังจากหนังไซไฟเขย่าขวัญที่พวกเขาเคยดูมาก่อน ในช่วงแรกที่ยานต่างดาวลงจอดไปทั่วโลก ดนตรีของ Jóhann Jóhannsson ไม่ได้พยายามชี้นำว่าสิ่งนี้คือภัยคุกคามอันน่ากลัว แต่ชักชวนให้เราลองเปิดใจมากกว่า เพื่อตีความตัวละครของ Amy Adams ที่มีหน้าที่สื่อสารกับมนุษย์ต่างดาว ซึ่งดนตรีประกอบในหนังเรื่องนี้ทำหน้าที่เหมือนในเรื่อง ‘Prisoner’ ที่ชักชวนให้คนดูอยากรู้อยากเห็น หรือจุดประกายความลึกลับบางอย่างในคนอยากเข้าไปค้นหาความจริงของมันในหนังของ Villeneuve

ทั้งสองยังได้ร่วมงานกันในหนัง ‘Blade Runner 2049’ ด้วย แต่ Villeneuve กลับอยากได้ดนตรีประกอบในมุมมองใหม่ ๆ มากกว่าจึงให้ Hans Zimmer มาดูแลแทน น่าเสียดาย อยากได้ยินโลกอนาคตในจินตนาการของ Jóhannsson จริง ๆ แต่เขายังได้ฝากผลงานของเขาไว้กับหนังอีกสามเรื่องคือ ‘Mandy’, ‘The Mercy’ และ ‘Mary Magdalene’ ที่ออกฉายในปีนี้แต่ไม่มีวี่แววว่าจะได้เข้าไทย ถ้าใครคิดถึงเขาก็อยากให้ไปหามาดูกัน ซึ่งยังหลงเหลือเทคนิคการใช้เครื่องดนตรีคลาสสิกและเสียงสังเคราะห์ที่แปลกแหวกแนวได้อย่างลงตัวเพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับหนัง และรอให้หนังทำดนตรีประกอบรุ่นใหม่ต่อยอดงานของเขาต่อไป แม้เขาจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่เสียงของเขาคงยังกึกก้องอยู่ในวงการหนังไปอีกหลายปีแน่นอน

นอกจากการทำเพลงประกอบหนังแล้ว Jóhannsson ยังทำอัลบั้มของตัวเองด้วย ซึ่งก็ได้รับคำวิจารณ์อย่างล้นหลาม บางสำนักเรียกดนตรีของเขาว่าแนว neoclassical จากการผสมผสานระหว่างเสียงดิจิทัลเลขฐานสองเข้ากับเครื่องดนตรีคลาสสิก ซึ่งเขาเติบโตมากับการเรียนเปียโนและทรอมโบนตั้งแต่อายุ 11 ปี แถมยังเคยตั้งหรือเป็นสมาชิกวงดนตรีอินดี้อีกหลายวง หนึ่งในนั้นคือ Daisy Hill Puppy Farm แนว proto-shoegaze แถมยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งค่ายเพลง Kitchen Motors ในประเทศไอซ์แลนด์ที่รวมศิลปินหลากหลายแนวเพลงไว้ด้วยกันทั้งพังก์ แจ๊ส คลาสสิกและอิเล็กทรอนิก และไม่จำกัดตัวเองเป็นแค่ค่ายเพลง แต่ทำทั้งงานศิลปิน จัดคอนเสิร์ต นิทรรศการ ละครเวที ทำหนังสือและทำงานวิจัยเกี่ยวกับศิลปะอีกด้วย

เขามักทำเพลงออกมาให้เรียบง่ายและไม่ซับซ้อนจนเกินไป เพราะเขาเชื่อว่าเพลงของเขาควรจะสื่อสารกับคนฟังอย่างตรงไปตรงมาหรือทำงานกับอารมณ์ของพวกเขา เพลงควรจะสะท้อนอารมณ์ของพวกเขาได้ มีบรรทัดฐานอย่างหนึ่งที่ Jóhannsson มักใช้ในงานของเขาคือ สื่อสารออกไปให้เข้าใจง่ายที่สุดและไม่คลุมเครือหรือซับซ้อนโดยไร้เหตุผล เขาเคยจำกัดความดนตรีของเขาในบทสัมภาษณ์อันหนึ่งกับ The Talk เมื่อนักเขียนถามเขาว่าทำไมงานดนตรีประกอบและงานประพันธ์ออร์เคสตราของเขาถึงมีกลิ่นไอของความหดหู่และเศร้าแบบนี้ เขารู้สึกแบบเดียวกับดนตรีของคุณรึเปล่า?

ผมคิดว่าความทุกข์ระทม (melancholy) เป็นอารมณ์ที่มักถูกคนเข้าใจผิด ผมคิดว่ามันไม่ใช่อารมณ์ที่ไม่พึงประสงค์หรือไม่ดี ยิ่งทุกวันนี้มีโซเชียลมีเดียที่บังคับให้เราต้องแสดงออกว่าเรามีความสุขกับชีวิตที่น่าอัศจรรย์ใจ ความทุกข์ระทมกลายเป็นห้วงอารมณ์ที่ผมยินดีจะรู้สึกถึงมัน มันไม่เหมือนกับความเศร้า มันเป็นอารมณ์ที่ลึกซึ้งกว่านั้น ซึ่งมันมาจากมุมมองอันน่าหดหู่ต่อโลกใบนี้ เป็นมุมองอันโศกเศร้าที่มีต่อศิลปะ — Jóhann Jóhannsson

หนึ่งในอัลบั้มที่เขาถ่ายทอดตัวตนและความสามารถของเขาออกมาได้อย่างงดงามคืออัลบั้ม IBM 1401 – A User’s Manual ซึ่งได้อิทธิพลมาจากหนังสือของ Georges Perec ที่ชื่อว่า ‘Life a User’s Manual’ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำของกลุ่มนักเขียนนามว่า ‘Oulipo’ ซึ่งเป็นนักเขียนหัวก้าวหน้าที่ทดลองออกจากกรอบการเขียนหนังสือแบบใหม่ ๆ เสมอ ทำให้ Jóhannsson นำแรงบันดาลใจนี้มาทดลองออกจากกรอบกับงานดนตรีของตัวเองด้วย ซึ่งอัลบั้มนี้เขาก็นำเสียงและเพลงที่พ่อเขาเคยอัดบนเครื่อง IBM 1401 ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ที่แพร่หลายมากในยุคหนึ่ง ซึ่งพ่อของเขาและเพื่อน ๆ ก็ทำงานให้กับ IBM มาก่อนและได้สร้างตัวโน็ตจากการบันทึกคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของระบบที่ขัดข้อง เปลี่ยนคอมเครื่องนี้ให้กลายเป็นเครื่องดนตรี เขาเลยนำดนตรีที่พอเขาเคยสร้างมาเขียนเพลง เพื่อรำลึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเครื่องจักร ความโบราณ ความอาลัยอาวรณ์

อัลบั้มสุดท้ายในชีวิตของ Jóhann Jóhannsson อย่าง Orphée ก็เป็นอีกอัลบั้มที่งดงามมาก โดยออกกับ Deutsche Grammophon ค่ายเพลงคลาสสิกที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดในโลก เพราะตัวเขาเองก็ต้องการให้อัลบั้มนี้โดดเด่นด้วยตัวมันเองโดยไม่มีเรื่องชื่อเสียงในฐานะนักทำดนตรีประกอบหนังมาเกี่ยวข้อง ซึ่งชื่ออัลบั้มก็มาจากตำนานกรีกปรัมปราของชายนามว่า Orpheus ซึ่งในยุคก่อนมีเพียงเทพเท่านั้นที่เล่นดนตรีได้ แต่ชายคนนี้กลับมีฝีมือในการเล่นดนตรีเทียบเท่าเหล่าทวยเทพ และใช้ดนตรีในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในการผจญภัยของตัวเอง แต่กลับช่วยคนรักของตัวเองจากนรกไม่ได้และตายตามคู่รักของตัวเองไป

เพียงเสียงเปียโน ไวโอลินและเสียงสีเบา ๆ ก็ถ่ายทอดให้ซิงเกิ้ลเปิดอัลบั้มอย่าง Flight from the City ออกมาได้อย่างไพเราะและไม่ซับซ้อนเลย หรือเพลง Good Morning, Midnight  Good Night, Day เหมือนเป็นซาวด์แท็กที่ถูกเล่นในช่วงพีคของชีวิต Orpheus โดยเริ่มด้วยวอลซ์ช้า ๆ ชวนฝันก่อนจะฮุคด้วยเสียงไวโอลินและเปียโนที่ดุดันบอกเล่าถึงการพบกันและการจากลา พูดถึงความเปลี่ยนแปลงที่เขามาฉีกกระชากความรักเป็นชิ้น ๆ มันน่าตื่นเต้นที่ได้เห็นขอบเขตอันไร้ขีดจำกัดของนักแต่งเพลง นักวิจารณ์บางสำนักยกให้ Jóhannsson คือแสงแห่งความหวังของวงการเพลงคลาสสิกเลยทีเดียว เป็นผลงานที่ชิ้นที่เราอยากให้คุณตั้งใจฟัง

ในบทสัมภาษณ์ของ The Talk เขายังถูกถามอีกว่า ในฐานะคนฟังเพลง คิดว่าคนเราควรตั้งใจฟังเพลงอย่างจริงจังหรือไม่จำเป็น แค่เปิดเพลงทิ้งไว้ฟังไปเรื่อย ๆ ก็ได้ Jóhannsson ตอบว่า “ผมคิดว่าคุณควรฟังเพลงด้วยความตั้งใจ ผมไม่ชอบเปิดเพลงให้เป็นแบ็คกราวเฉย ๆ และจะไม่ฟังไปเลยถ้าไม่ได้ตั้งใจฟังมันจริง ๆ ถ้าคุณได้ฟังเพลงอย่าง The Second Dream of The High-Tension Line Stepdown Transformer ของ La Monte Young ซึ่งเป็นเสียงทรัมเป็ตเล่นโน๊ต C ยาว ๆ เป็นชั่วโมง คุณต้องตั้งใจฟังมัน ไม่อย่างนั้นมันจะเป็นเพียงแค่เสียงน่ารำคาญ สำหรับผมเสียงลูปหึ่ง ๆ อันนี้มันลึกซึ้งมาก ๆ คลื่นความถี่ของมันเป็นหนึ่งเดียวกับร่างกายของเรา เมื่อคุณเริ่มฟังเพลงด้วยความตั้งใจ คุณจะได้ยินสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างเสียงเหล่านั้นอันกลมกล่อมและเรียบง่ายและสรรพเสียงอันซับซ้อนของโลก”

เขาแนะนำมาแบบนี้แล้ว ก็ลองมาตั้งใจฟังหนึ่งในคลิปที่บันทึกโชว์ครั้งสุดท้ายของเขาเอาไว้กัน เราคงจะคิดถึงเขาในฐานะนักประพันธ์เพลงประกอบหนังที่เรารักตลอดไป

อ้างอิง

How Composer Jóhann Jóhannsson Helped Change the Genre Cinema Soundscape

JÓHANN JÓHANNSSON: “DOES IT SPEAK SIMPLY AND DIRECTLY?”

Soundtrack Composer Jóhann Jóhannsson on Arrival, Sicario and The Theory of Everything

Facebook Comments

Next:


Peerapong Kaewthae

แม็ค เป็นคนชอบฟังเพลงเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และก็ชอบแนะนำวงดนตรีหรือเพลงใหม่ ๆ ให้คนอื่นรู้จักผ่านตัวอักษรตลอดเวลา