Article Guru

UK Jazz ความรุ่งโรจน์ของดนตรีแจ๊สในสหราชอาณาจักรที่ฉุดไม่อยู่

ปี 2003 เสียงแซ็กโซโฟนดังลอดออกมาจาก Mau Mau บาร์เล็ก บนถนน Portobello ของลอนดอน ซึ่งเป็นศูนย์รวมทางศิลปวัฒนธรรมของบุคลากรสายสร้างสรรค์ มีคนกลุ่มนึง ที่เชื่อว่าดนตรีแจ๊สยังไม่ตายไปจากโลกใบนี้แม้มันจะเสื่อมความนิยมลงในปลายยุค 50s ก็ตาม ได้จัดงาน Jazz re:freshed ขึ้นสัปดาห์ละครั้ง เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ ให้กับคนฟังที่ต่างเคยคิดกันว่า ดนตรีแจ๊สต้องมีแต่ฟอร์มเดิม เป็นสแตนดาร์ดจังหวะเรียบง่าย แต่อันที่จริงแล้วการที่มันเป็นหนึ่งในแนวดนตรีที่มีมาเป็นร้อยปี ในแต่ละยุคสมัยก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเพลงแจ๊สให้ต่างไปตามวัฒนธรรมของผู้เล่นจากต่างพื้นที่ วันเวลาผ่านไป เพลงก็มีวิวัฒนาการจนมี subgenre แยกย่อยมากมาย ตั้งแต่ easy listening ไปถึงดนตรี avant-garde เพราะมันคือดนตรีที่เลื่อนไหลเหนือกาลเวลา และเป็นดนตรีที่มีอิสระทางความคิดสร้างสรรค์ และการแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกอย่างไร้ขีดจำกัด

บางคนอาจตั้งข้อสงสัยว่าการไม่ยึดกับแบบแผนของ standard jazz ที่มีมาแต่อดีตกาล อย่าง American jazz legends ทั้งหลายเจ้าของเพลงดัง Summertime, Feeling Good หรืออะไรก็ตามแต่ เป็นการให้ความเคารพในผลงานดั้งเดิมหรือไม่? 

Shabaka Hutchings มือแซ็กโซโฟนและแคลริเน็ตได้ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า พวกเขาเรียนรู้พื้นฐานและโครงสร้างเหล่านั้นมาก็จริง แต่ปลายทางของเด็กรุ่นใหม่คือการไม่ผลิตซ้ำ เพื่อบ่งบอกว่าตัวตนของพวกเขา ตอนนี้คืออะไรผ่านเพลงแจ๊สที่ร่ำเรียนและรับฟังมา หรืออย่างที่ Yazmin Lacey เชื่อว่า ดนตรีแจ๊สคือการได้ถ่ายทอดเรื่องจริง จากหัวใจของศิลปินจริง หรือสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมจริง ผ่านดนตรีที่ปลดแอกซึ่งขนบในตัวของมันเอง เดิมทีแจ๊สก็เป็นดนตรีที่พัฒนามาจากการถูกกดขี่ทั้งเชื้อชาติและชนชั้น คนไม่ได้รับการศึกษาในตำรา ไม่ได้ร่ำรวยด้วยฐานะ แต่พวกเขามองเห็นความงามในเสียงเพลงเหล่านี้ เพลงที่ก็คงไม่มีใครรู้จัก และคงไม่มีใครสนใจ แต่เชื่อว่ามันจะช่วยพาพวกเขาให้ได้ปลดปล่อยความระทม ผ่านเม็ดเหงื่อที่หลั่งออกมาระหว่างการบรรเลงโน้ตเหล่านั้น

นักเรียน และนักดนตรีอายุน้อย ต่างสนุกสนานไปกับการนำส่วนผสมของแจ๊สระดับรากเหง้า มาผสานเข้ากับดนตรีร่วมสมัย อย่างป๊อป ฮิปฮอป neo soul อีกทั้งลอนดอนเป็นศูนย์กลางของความหลากหลายทางชาติพันธุ์เลยทำให้พวกเขาสอดไส้เพลงพื้นถิ่นอย่างละติน แอโฟรบีต เข้าไป อย่างวง Kokoroko ก็มีนักดนตรีที่มาจากซิมบับเวย์ หรืออัลบั้มของ Moses Boyd ได้แรงบันดาลใจจากเมืองเคปทาวน์ แอฟริกาใต้ แม้แต่นักดนตรีจากแมนเชสเตอร์ยังได้รากฐานจาก rave scene หรือแนวคิด spiritual ด้วยซ้ำ จากสิ่งเหล่านี้ พวกเขาโบกนิดสะบัดหน่อย ร่ายมนต์ให้การ improvisation นั้นอวลไปด้วยเสน่ห์แห่งการทดลองที่ไม่สามารถคาดเดาได้

จากกลุ่มคนขับเคลื่อนใน underground music scene ของลอนดอน และคนที่ใช้ jazz club อย่าง Ronnie Scott’s หรือ 606 Club และ Mau Mau ในการสร้าง community ให้เข้มแข็งได้ (ถ้าในไทยก็เทียบได้กับ Jazz Happens หรือ Brownsugar ที่นิยมชวนเพื่อนสถาบัน หรือลูกศิษย์จากสาขาดนตรีแจ๊สมาแสดง) ในเวลาต่อมา Jazz re:freshed ก็ได้กลายมาเป็นค่ายเพลง ออแกไนเซอร์ เวิร์กช็อป และชมรม ที่ผลักดัน สนับสนุนให้นักดนตรีแจ๊สในลอนดอนได้มาเผยแพร่ผลงาน และร่วมกันทดลองหาแนวดนตรีใหม่ จนกลายมาเป็นฮับที่ผลักดันซีนแจ๊สในอังกฤษอย่างจริงจัง จากการที่พวกเขาได้ร่วมใน SXSW music showcase ระดับโลกที่ออสติน โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก PRS Foundation ให้ส่งศิลปินที่น่าจับตามองของสหราชอาณาจักรทั้ง Ezra Collective, Yussef Dayes, Nérija, Sarah Tandy และ Joe Armon-Jones ได้ไปเฉิดฉายบนเวทีนานาชาติ

นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม Tomorrow’s Warriors ที่ก่อตั้งเมื่อปี 1991 ซึ่งก็เป็น jazz collective รวมคนสายแจ๊สที่มุ่งมั่นจะวางรากฐานให้ศิลปินหน้าใหม่ และนักดนตรีจากกลุ่มหลากหลายชาติพันธ์ุ ได้เรียนรู้เรื่องต่าง ในการสร้างงาน และมีพื้นที่ในการแสดงออก โดยมีโปรดิวเซอร์คอยช่วยตบผลงาน มีครูสอนเทคนิค และที่ปรึกษา artist development ผลักดันศิลปินแจ๊สให้พวกเขาลืมตาอ้าปากในฐานะนักดนตรีได้โดยไม่ต้องพึ่งพาค่ายใหญ่ หรือเลือกพัฒนาทักษะได้ตามความสนใจ โดยเป็นโครงการระยะยาวที่แต่ละคลาสจะแบ่งตามอายุของผู้เรียนตั้งแต่ 11-25 ปี และตอนนี้ก็มีศิลปินมาแรงทั้ง Moses Boyd, Nubya Garcia และ Ezra Collective ก็เคยร่วมงานกับพวกเขา นอกจากนี้ Tomorrow’s Warriors ยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการโปรโมต จัดคอนเสิร์ตแจ๊สหรือ showcase ให้ศิลปินในสังกัดด้วย

ค่ายเพลง Ninja Tune ก็เป็นอีกกลุ่มที่สำคัญ แม้พวกเขาจะโด่งดังในสาย trip hop, hip hop หรือขึ้นชื่อว่ามีความเป็น pioneer ของแนวดนตรี fusion แห่งยุค 90s ด้วยความมุ่งหวังที่จะทำให้เพลงของแต่ละวงเป็นธรรมชาติ และคงความ underground ไม่ขึ้นต่อกระแสที่สุด เลยมีอิสระในการสร้างผลงานให้แซงเพื่อนในรุ่นได้ แต่เมื่อกระเทาะส่วนประกอบของแต่ละวงดนตรีในค่ายแล้ว ทุกคนล้วนแต่หยิบเอา jazz element มาพัฒนาต่อเป็นแนวดนตรีของตัวเองทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น DJ Food, The Cinematic Orchestra หรือ Jordan Rakei และพวกเขาเหล่านี้ก็ยังคงอัตลักษณ์ของค่ายที่เป็น black music influenced ได้อย่างแข็งแรงเสมอมาจนปัจจุบัน

จากการขับเคลื่อนมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง UK Jazz ได้แทรกซึมเข้ามาใน pop culture จนกลายมาเป็นแนวดนตรีหลัก ที่คนเลือกจะฟังกัน อย่างที่ BBC รายงานว่า เพลย์ลิสต์ Jazz UK ของ Spotify มีผู้ฟังเพิ่มขึ้นถึง 108% เมื่อปี 2019 ซึ่งเพลย์ลิสต์ดังกล่าวก็ถูกแนะนำขึ้นมาในหน้าแรกของผู้เขียนเช่นกัน และนั่นก็ทำให้เราได้พบกับศิลปินที่น่าสนใจมากหน้าหลายตาที่เคลื่อนไหวอยู่ในซีนแจ๊สร่วมสมัย ไม่น่าเชื่อว่าด้วยคำจำกัดความว่าแจ๊สเรากลับพบแนวดนตรีที่แทบไม่เหมือนกันเลยในเพลย์ลิสต์นี้ และด้วยความแปลกใหม่ มีรสชาติดนตรีที่จัดจ้านและซับซ้อน หลายคนถึงขั้นได้รับการยอมรับ และหรือถูกเสนอชื่อใน Mercury Prize รวมถึงเป็นผู้ชนะในรายการ MOBO (Music of Black Origin) แม้แต่บัตรคอนเสิร์ตของศิลปินแนวนี้จำนวน 1,400 ใบถูกจำหน่ายออกไปจนหมดในเวลาอันรวดเร็ว

และด้วยเหตุนี้เอง แจ๊สก็หลั่งไหลเข้ามาในซีนดนตรีที่ค่อนข้างจะ mainstream ขึ้นมาหน่อยด้วยการที่พวกเขาใส่ hint of pop เข้าไป ศิลปินหลายคนจาก South London ทั้ง Tom Misch, King Krule, Cosmo Pyke, Loyle Carner หรือขวัญใจชาวไทยทั้ง Honne หรือ Prep ต่างก็ได้อิทธิพลจากดนตรีแจ๊สมาทั้งสิ้น ศิลปินบางคนในกลุ่มนี้ก็ย้อนกลับไปทำงานกับนักดนตรีแจ๊สที่ซับซ้อน เลยยิ่งเป็นแรงผลักให้โลกดนตรี blend เข้าหากันอย่างกลมกล่อมมากขึ้น และเกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิดสร้างสรรค์แบบต่อยอดได้ไร้ที่สิ้นสุด

สิ่งที่น่าสนใจและทำให้ UK Jazz scene ไปได้ไกล คือการร่วมมือกันระหว่างผู้มีความเชี่ยวชาญทางสายอาชีพต่าง มาผนึกกำลังกัน และเล็งเห็นศักยภาพของนักดนตรีในกลุ่ม ซึ่งระบบนิเวศน์นี้เองที่จะทำให้วงการดนตรีพัฒนาได้อย่างยั่งยืน เช่นกันกับที่ประเทศไทยก็เริ่มมีการจับมือระหว่างค่ายเพลงอิสระ และ collective เล็ก ในการปลุกปั้นและสร้างแรงขับเคลื่อนบางอย่างเพื่อต่อสู่กับการผูกขาดทางอุตสาหกรรมบันเทิง และเปิดช่องให้กับความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่กันมากขึ้น ก็ต้องรอดูว่าในอนาคตวงการเพลงไทยจะลืมตาอ้าปากได้อย่างซีนแจ๊สของสหราชอาณาจักรหรือไม่

อ้างอิง
The British jazz explosion: meet the musicians rewriting the rulebook
UK industry unites to support new wave of UK jazz at SXSW
Tomorrow’s Warriors

อ่านต่อ

Not Waving But Drowning อัลบั้มสุดประทับใจจาก Loyle Carner ที่ฟังแล้วกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่
A New Place 2 Drown พื้นที่สำรวจความคิดในฐานะเด็กหนุ่มธรรมดาของ King Krule

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้